ในการเดินทาง ไม่ว่าจะด้วยยานพาหนะใด (ยกเว้นยานพาหนะส่วนตัว) เรามักจะต้องเผื่อเวลาอยู่แล้ว โดยเฉพาะการเดินทางโดย “เครื่องบิน” เราอาจต้องเผื่อเวลามากกว่านั้น เนื่องจากขั้นตอนก่อนขึ้นเครื่องจะค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน โดยมีขั้นตอน คือ
-เช็กอิน (Check-in) โหลดกระเป๋า
-ตรวจร่างกาย ตรวจสัมภาระ
-ด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) หากเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ
ส่วนใหญ่แล้ว ผู้โดยสารมักจะมีปัญหาในขั้นตอนของการเช็กอิน เพราะเคาน์เตอร์เช็กอินจะเปิด-ปิดให้บริการตามเวลา โดยเคาน์เตอร์สายการบินจะปิด
-45 นาทีก่อนเครื่องออก สำหรับเที่ยวบินในประเทศ ควรเผื่อเวลาให้มาถึงสนามบินอย่างน้อย 1.30-2 ชั่วโมง ก่อนเครื่องออก
-60 นาทีก่อนเครื่องออก สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ ควรเผื่อเวลาให้มาถึงสนามบินอย่างน้อย 2.5-3 ชั่วโมง ก่อนเครื่องออก
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการเช็กอินออนไลน์และการเช็กอินผ่านเครื่องที่สนามบิน แต่ก็ต้องเผื่อเวลาไว้อยู่ดี เพราะกว่าจะได้ขึ้นเครื่องจริง ๆ ต้องใช้เวลาทุกขั้นตอน
Boarding Pass คืออะไร
Boarding Pass หรือเอกสารยืนยันการขึ้นเครื่อง จะได้รับเมื่อทำการเช็กอินแล้ว ซึ่งเป็นคนละใบกับตั๋วโดยสารที่ได้ตอนจองหรือซื้อตั๋ว กระดาษแผ่นนี้จะเป็นใบผ่านประตูขึ้นเครื่องเพื่อเตรียมเดินทาง และแสดงตัวเมื่อถึงสนามบินปลายทาง โดย Boarding Pass นี้อาจเป็นกระดาษแข็งหรือกระดาษที่คล้ายกับใบเสร็จรับเงินก็ได้ขึ้นอยู่กับสายการบิน โดย Boarding Pass จะมี 2 ส่วน คือ
-ส่วนสำหรับสายการบิน เจ้าหน้าที่จะฉีกเก็บไปขณะที่เรากำลังจะเดินขึ้นเครื่อง
-ส่วนสำหรับผู้โดยสาร จะบอกรายละเอียดต่างเกี่ยวกับการเดินทาง จึงมีความสำคัญในขณะเดินทางมาก ต้องรักษายิ่งชีพ อย่าทำหายโดยเด็ดขาด โดยจะต้องถือคู่กับพาสปอร์ต (เดินทางระหว่างประเทศ) หรือบัตรประจำตัวประชาชน (เดินทางในประเทศ) ใช้ยืนยันตัวตนในทุกขั้นตอนก่อนขึ้นเครื่องและระหว่างอยู่บนเครื่อง ทั้งตรวจร่างกาย สแกนกระเป๋า ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ขอรับบริการที่ซื้อไว้พิเศษ เช่น อาหาร ซึ่งปกติแล้ว Boarding Pass ผู้โดยสารสามารถเก็บไว้เป็นที่ระลึกได้หลังการเดินทาง
เมื่อ Boarding Pass บอกรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเดินทาง ดังนั้น “ตัวเลข” ทุกตัวจึงมีความสำคัญที่จำเป็นต้องให้ความสนใจและให้ความสำคัญ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ “ตกเครื่อง” ซึ่งมีดังนี้
1. หมายเลขเที่ยวบิน (Flight)
เป็นเลขที่แสดงเส้นทางการบิน ตัวเลขนี้จะขึ้นต้นด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษซึ่งเป็นรหัสของสายการบิน (รหัสที่กรมการบินระหว่างประเทศตั้งขึ้น) และตัวเลขแต่ละหลักจะมีความหมายในตัว เช่น แสดงเที่ยวบินค่าเข้าหรือขาออก ทั้งนี้ผู้โดยสารควรจะจำเลขเที่ยวบินของตัวเองให้ได้ เพื่อใช้หาหมายเลขเคาน์เตอร์เช็กอินเมื่อมาถึงสนามบิน หมายเลขประตูขึ้นเครื่อง ดูสถานะเที่ยวบินดีเลย์หรือแคนเซิล และเพื่อให้ง่ายในการเขียนใบตม. รวมถึงการผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองประเทศปลายทาง
2. เวลาขึ้นเครื่อง (Boarding time)
คือ เวลาที่สายการบินเรียกผู้โดยสารขึ้นเครื่อง ไม่ใช่เวลาที่เราไปถึงประตู และไม่ใช่เวลาที่เครื่องออก นั่นหมายความว่า ณ เวลานี้คุณควรจะนั่งรออยู่หน้าประตูแล้ว ซึ่งหลังจากเช็กอิน เจ้าหน้าที่มักจะย้ำเสมอว่าควรไปถึงประตูก่อนเวลานี้ประมาณ 20-30 นาที
3. ประตูขึ้นเครื่อง (Gate)
คือ จุดที่เราต้องไปขึ้นเครื่อง หากเป็นสนามบินขนาดใหญ่ มีหลายประตู อาจจะต้องเผื่อเวลาในการเดินไปด้วย เพราะระยะทางจะค่อนข้างไกลกัน และควรมองหาป้ายที่บอกทางให้ดี เพราะส่วนใหญ่แล้ว หลังจากตรวจร่างกาย ตรวจสัมภาระ จะมีทางแยกไปได้ทั้งทางซ้ายและทางขวา ต้องอ่านป้ายให้ดีว่าประตูของเราต้องเดินไปทางไหน เลขนี้อาจจะเป็นตัวเลขหรือตัวอักษรภาษาอังกฤษก็ได้ ขึ้นอยู่กับสนามบิน
4. หมายเลขที่นั่ง (Seat)
เป็นหมายเลขที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษตามด้วยตัวเลข โดยตัวอักษรภาษาอังกฤษ จะบอกแถวที่นั่งในลักษณะของแถวตอนลึก ส่วนตัวเลขจะบอกแถวที่นั่งในลักษณะหน้ากระดาน ซึ่งโดยมาตรฐานจะใช้หลักนี้ในการหาที่นั่งของผู้โดยสาร
5. หมายเลขบัตรโดยสาร (Ticket number)
หมายเลขนี้จะรันตามลำดับการออกตั๋วโดยสาร หรือลำดับในการจองตํ๋วนั่นเอง โดยจะเป็นตัวเลขที่แสดงเป็นบาร์โค้ดหรือคิวอาร์โค้ด ใช้สำหรับเช็กอิน
6. วันที่เดินทาง (Date)
แสดงวันที่เราออกเดินทาง ซึ่งต้องดูและจำให้ดี จุดนี้อาจมีปัญหาได้ เกี่ยวกับการจำวันเดินทางผิด หากมาวันก่อนบินจริง ก็อาจจะแค่เสียอารมณ์เสียเวลา แต่ถ้าหากมาวันหลังจากที่เดินทางแล้ว ก็จะทำให้เราเสียเงินค่าตั๋วเครื่องบินฟรีแต่ไม่ได้เดินทางอีกด้วย
7. เวลาเครื่องออก (Departure time)
เป็นเวลาที่ล้อเครื่องบินจะเริ่มเคลื่อนที่เพื่อเตรียมทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ตัวเลขนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาได้ หากเป็นการบอกเวลาแบบ 12 ชั่วโมง เนื่องจากต้องระวังสับสนเวลาแบบ AM และ PM โดยเฉพาะเที่ยวบินกลางคืน ซึ่งการใช้ AM จะเป็นเวลาตั้งแต่ 00.00 น. (เที่ยงคืนตรง) – 11.59 น. (11 โมง 59 นาที ก่อนเที่ยงวัน) ส่วน PM จะเริ่มตั้งแต่เวลา 12.00 น. (เที่ยงวันตรง) – 23.59 น. (5 ทุ่ม 59 นาที)
8. เวลาที่ถึงที่หมาย (Arrival time)
คือ เวลาที่เราจะเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทาง ซึ่งจะแสดงเป็นเวลาท้องถิ่นของจุดหมายปลายทางที่เราจะไป ปกติแล้ว หากเที่ยวบินบินตามเวลาปกติไม่มีดีเลย์ ก็จะถึงตามเวลาที่กำหนด ขาดเกินเป็นนาที แต่ไม่ถึง 1 ชั่วโมง เมื่อเครื่องลงจอดแล้ว เราก็ควรที่จะปรับเวลาของเราให้เป็นเวลาท้องถิ่นด้วย
9. ชั้นที่นั่งโดยสาร (Class)
มีแสดงในบางสายการบิน ปกติแล้วบนเครื่องบินจะจัดชั้นที่นั่งของผู้โดยสารหลัก ๆ เป็น First Class, Business Class และ Economy Class ตามหลักสากล หากเป็นเครื่องบินโดยสารลำใหญ่ ก็จะแสดงชั้นที่นั่งนี้บน Boarding Pass ด้วย ซึ่งผู้โดยสารชั้น First Class และ Business Class จะได้ขึ้นเครื่องก่อนทุกคน
10. เลขโซนที่นั่ง (Boarding Zone)
มีแสดงเป็นบางสายการบิน ถ้าเป็นสายการบินที่ใช้เครื่องบินลำไม่ใหญ่ มีที่นั่งไม่มากก็จะไม่มีแสดง แต่หากเป็นเครื่องบินลำใหญ่ จะมีแสดงไว้เพื่อจัดคิวขึ้นเครื่องของผู้โดยสาร เนื่องจากพื้นที่บนเครื่องบินมีจำกัด หากไม่จัดโซนก็จะเดินกันวุ่นวาย แออัด โดยผู้โดยสารที่นั่งอยู่โซนท้ายเครื่องจะได้ขึ้นเครื่องก่อน ส่วนผู้โดยสารโซนหน้าสุด (ที่ไม่ใช่ First Class และ Business Class) จะถูกประกาศให้ขึ้นเครื่องเป็นกลุ่มสุดท้าย
"การเดินทาง" - Google News
August 11, 2020 at 02:00PM
https://ift.tt/2XOELGc
รู้ไว้ไม่ตกเครื่อง “ตัวเลข” บน Boarding Pass บอกอะไรเราบ้าง? - Sanook
"การเดินทาง" - Google News
https://ift.tt/2XBGrDF
No comments:
Post a Comment